ความเป็นมาของชมรมบริหารบุคคลรังสิต (RPM)

 

ชมรมบริหารบุคคลรังสิต (Rangsit Personnel Management) เป็นชมรมของนักบริหารบุคคลที่เก่าแก่ชมรมหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย(PMAT) กล่าวคือ มีอายุมากกว่า 41 ปี ไม่เคยมีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ แต่พอจะสืบเสาะและสอบถามจากนักบริหารบุคคลรุ่นพี่ๆ อย่างเช่น อาจารย์ชำนาญ  พิมลรัตน์, คุณอุกฤษณ์ กาญจนเกตุ และอาจารย์ปรีชา วุฒิการณ์ และนักบริหารบุคคลท่านอื่นๆ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นข้อต่อของแต่ละช่วงเวลา

พอจะประมาณได้ว่าชมรมบริหารบุคคลรังสิตแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นในช่วงกลางปี พ.ศ. 2513 ถึงต้นปี 2514   โดยกลุ่มนักบริหารงานบุคคลจากโรงงานในย่านรังสิตเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล  ได้มองเห็นว่าต่อไปในภายหน้า งานบริหารบุคคลและแรงงานจะมีความยุ่งยากและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  ถ้าหากไม่มีการบริหารจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม  อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของกิจการได้   ดังนั้นนักบริหารงานบุคคลกลุ่มนี้จึงได้มีดำริจัดให้มีการประชุมพบปะกันและกัน  โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นระหว่างนักบริหารบุคคลด้วยกัน   ซึ่งปรากฏต่อมาในภายหลังว่าได้เกิดมีปัญหาแรงงานอย่างหนักหน่วงในช่วง พ.ศ.2515 ถึง พ.ศ.2519 และในห้วงระยะเวลานั้นได้มีการตรากฎหมายคุ้มครองแรงงานและพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ออกมาบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2515 และ พ.ศ. 2518 ตามลำดับ

ผู้ริเริ่มก่อตั้งชมรมบริหารบุคคลรังสิตในยุคนั้นทั้งหมดทำงานอยู่ย่านรังสิต   ซึ่งขณะนั้นมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่เพียงไม่กี่โรงเท่านั้น  ในห้วงระยะเวลาที่กล่าวถึง โรงงานอุตสาหกรรมจะตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนจังหวัดปทุมธานียังมีโรงงานไม่มากนักและโรงงานใหญ่ๆ จะอยู่ในย่านรังสิต (ขณะนั้นยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมใดๆ ในเขตจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แน่นอนขณะนั้นยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมนวนคร  ยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา)   ในยุคที่เริ่มก่อตั้งชมรมฯ ขึ้นมานั้น  ย่านรังสิตยังถือว่าเป็นสถานที่ที่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ และห่างไกลความเจริญอย่างมากทีเดียว ในยุคนั้น ฟิวเจอร์ปาร์ค และหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 100 ปี ก็ยังไม่มีเช่นกัน

ถ้าหากเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ผ่านสนามบินดอนเมืองมาแล้ว พี้นที่ถัดมาแทบจะเป็นแต่ทุ่งนา มีตึกแถวสองชั้น สามชั้น อยู่ริมสองข้างทางเป็นระยะๆ เท่านั้น และเมื่อก้าวข้ามสะพานรังสิตมองมาทางฝั่งซ้ายมือก็จะเห็นแต่เพียงตลาดสดเล็กๆ มีตึกแถวสองชั้นเพียงไม่กี่หลัง และถ้าเลยทางแยกเข้าตัวจังหวัดปทุมธานีไปหน่อยก็จะถึงโรงงานไทยคูราโบ, โรงงานอเมริกันสแตนดาร์ด,โรงงานอเมริกันเท็คไทล์, โรงงานไทยเมลอน, โรงงานไทยเทยิ่นโพลีเอสเตอร์, โรงงานกู๊ดเยียร์  และถัดไปอีกนิดเดียวก็จะเป็นโรงงานไทยฟีลาเมนต์      และเมื่อลงสะพานรังสิตหากมองมาทางด้านขวามือ ในปัจจุบันนี้ก็จะเป็นศูนย์การค้าฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต  ซึ่งในสมัยก่อนเป็นเพียงทุ่งป่าหญ้ารกร้างว่างเปล่าขนาดใหญ่เท่านั้น     เลยถัดขึ้นไปนิดเดียวก็จะพบโรงงานบริดจสโตน, โรงงานทอกระสอบ (ปัจจุบันเป็นโรงงานกษาปณ์) และสุดท้ายทางด้านซ้ายมือที่กล่าวถึงก็จะเป็นโรงงานไทยกูลิโกะ

ส่วนบนถนนสายรังสิต-ธัญบุรีก็เป็นเพียงถนนลาดยางเล็กๆ สองเลนรถวิ่งสวนกัน มีรถวิ่งผ่านไปผ่านมาแทบจะนับคันได้ มีโรงงานเพียงไม่กี่โรง เช่น สยามซินเทติค, โรงงาน SSW โรงงานบางกอกกล๊าส ฯลฯ

นักบริหารบุคคลที่เข้าร่วมก่อตั้งชมรมบริหารบุคคลรังสิต และเข้ามาพบปะในยุคนั้นเท่าที่พอจะประมวลได้มี คุณวีระสิทธิ์ เพชรบุล (บริดจสโตน), คุณบุญสร้าง เจียมปรีชา (กู๊ดเยียร์) ต่อมาเป็นคุณสมาน ธนะศิริ (กู๊ดเยียร์) และคุณบูรณะ ศิลปะพงษ์ (กู๊ดเยียร์), คุณประสิทธิ์ ชนกนำพล (ไทยคูราโบ), คุณบำรุง (โรงงานกระสอบ), คุณสุจิตต์ อติรัตน์ (เทยิ่นโพลีเอสเตอร์) ฯลฯ

ส่วนนักบริหารบุคคลรุ่นถัดมา (ประมาณปี 2518) ที่ได้เข้ามาร่วม ได้แก่ คุณสุรินทร์                 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น  วงษ์เพชร  ตาลสุวรรณ (ไทยฟีลาเมนต์), คุณอนุพันธ์ กิจพันธ์พานิช (SSW), คุณชำนาญ พิมลรัตน์ (กู๊ดเยียร์), คุณประสาท เลาหพันธ์ (บริดจสโตน) เป็นต้น สำหรับในยุคนี้ คุณธีรวัฒน์ พฤกษาริยะ (เทยิ่นโพลีเอสเตอร์), คุณจักร อินทรจักร (อเมริกันสแตนดาร์ด) ฯลฯ ได้มีส่วนช่วยร่วมสนับสนุนงานของชมรมเป็นอย่างดี

นักบริหารบุคคลรุ่นถัดๆ มาที่เข้ามาร่วมบริหารชมรมฯ ได้แก่ คุณปรีชา วุฒิการณ์ (กู๊ดเยียร์),  คุณปิ่นเพชร หุตะสิงห์ (ฝาจีบ), คุณศรีอาภา สุธรรมพิทักษ์ (บริดจสโตน), คุณอุกฤษณ์ กาญจนเกตุ (คิมเบอร์ลี่คล๊าค) ฯลฯ

ในยุคเริ่มก่อตั้งชมรม  เท่าที่ทราบแต่ละโรงงานจะอาสาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมและสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป การเชิญประชุมก็จะใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่มาแจกจดหมายเชิญประชุมตามโรงงานโดยฝากหนังสือเชิญประชุมไว้ที่ป้อมยาม การประชุมก็เป็นลักษณะการปรึกษาหารือ  ปรับทุกข์เล่าขานถึงปัญหาและอุปสรรคที่ตนพบจากการทำงาน และให้คำชี้แนะในการแก้ปัญหาซึ่งกันและกัน เสร็จประชุมก็มีการพบปะสังสรรค์กันตามประสานักบริหารบุคคลแบบลูกทุ่งๆ

ต่อมา จากคำบอกเล่าปากต่อปากทำให้มีนักบริหารงานบุคคลมาร่วมปรึกษาหารือกันมากขึ้นๆ  สำหรับสถานที่ประชุมภายหลังที่ชมรมได้ขยายวงออกไป ก็จัดให้มีการประชุมประจำเดือนที่จิตรโภชนาลาดพร้าว และในต่อๆ มาก็ได้ย้ายไปที่โรงแรมเจ้าพระยา พญาไท ภายหลังได้ย้ายกลับมาประชุมที่โรงแรมรามาการ์เด้น และโรงแรมเซ็นทรัลลาดพร้าว(เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา

ลาดพร้าว)ตามลำดับ มีอยู่ปีหนึ่งเคยย้ายสถานที่ประชุมไปจัดที่อาคารฐานเศรษฐกิจ แต่สมาชิกก็ขอให้กลับมาใช้โรงแรมเซ็นทรัลลาดพร้าวเป็นสถานประชุมอีกครั้ง จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

นอกเหนือจากการประชุมประจำเดือน ชมรมบริหารบุคคลรังสิตก็ยังได้จัดให้มีการประชุมนอกสถานที่ปีละหนึ่งถึงสองครั้งและจัดให้มีการสังสรรค์ปีใหม่ในสไตล์แบบลูกทุ่งๆ ซึ่งดิ้นกันสุดเหวี่ยง นอกจากนี้ก็ยังมีประเพณีแบบไทยๆ ที่เรายังคงรักษาไว้คือ พิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ของชมรมฯ ในเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย

ในด้านการพัฒนาบุคลากรทางด้านนักบริหารงานทรัพยากรมนุษย์ ชมรมบริหารบุคคลรังสิตก็ได้จัดให้มีโครงการ New Generation HR ซึ่งเป็นหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับ HR รุ่นน้องๆ โดยให้พี่ๆ ของชมรมเป็นผู้สอนซึ่งมีพี่ตุ้ม (คุณนฤมล(ภควรรณ) วาดรักชิด บางกอกกล๊าส) ของน้องๆ และกรรมการชมรมเป็นแม่งานโดยได้รับความอนุเคราะห์จากโรงงานต่างๆ

ชมรมบริหารบุคคลรังสิตมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งก็เป็นเจตนารมณ์ของนักบริหารบุคคลรุ่นพี่ๆ ซึ่งเน้นความเป็นกันเอง ความไม่มีพิธีรีตอง การเคารพความมีอาวุโส (รุ่นพี่รุ่นน้อง) การไม่อวดเก่งหรือทำตัวเป็นนักวิชาการแม้จะเก่งเรื่องวิชาการก็ตาม รวมถึงเราไม่เน้นถึงการต้องมีปริมาณสมาชิกจำนวนมาก แต่เน้นที่ความมีคุณภาพของสมาชิกมากกว่า ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นค่านิยมหลักของชมรมก็ได้ ชมรมบริหารบุคคลรังสิตยึดหลักที่ว่า การมาร่วมประชุมเป็นการเข้ามาเพื่อให้ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อมารับ เราถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างตรงไปตรงมาและยังคงรักษาความเป็นลูกทุ่งอย่างไม่เสื่อมคลาย ทั้งนี้เพราะ…พวกเราเกิดมาจากทุ่งรังสิต

จากจุดเริ่มต้นในช่วงปี 2513 จะมีเฉพาะนักบริหารงานบุคคลเพียงไม่กี่ท่านในโรงงานในย่านรังสิตเท่านั้น  ต่อมาก็มีการขยายตัวมากขึ้นของสมาชิกในย่านรังสิตและย่านใกล้เคียง  จนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2525 – พ.ศ. 2530 ชมรมบริหารบุคคลรังสิตเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นไปอีก  และสมาชิกไม่เพียงจำกัดเฉพาะเขตรังสิตเท่านั้น   แต่ได้ขยายวงออกไปถึงอำเภอต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานีและเขตกรุงเทพฯ  แม้ว่าอยู่ถึงเขตถนนตกและลาดกระบังก็ยังเข้ามาร่วม ทั้งนี้ รวมถึงเขตหลักสี่ เช่น โฟร์โมสต์, ซิกเนติกส์ ฯลฯ   ปัจจุบันชมรมบริหารบุคคลรังสิต ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในย่านรังสิตเท่านั้น แต่กระจายไปทั่วเขตจังหวัดปทุมธานี, กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นนทบุรี, นครนายก, พระนครอยุธยา, สระบุรี ปราจีนบุรี ฯลฯ    นอกจากนี้  ชมรมบริหารบุคคลรังสิตยังเป็นแหล่งผลิตนักบริหารบุคคลมืออาชีพอันเป็นที่รู้จักกันดี  ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมชั้นนำระดับประเทศทุกภูมิภาคทั่วประเทศเป็นจำนวนมากมาย หลายๆ ท่านเติบโตมาจากชมรมฯ แห่งนี้  ทั้งนี้ มีบุคคลที่ได้รับการยกย่องเป็นนักบริหารบุคคลดีเด่นของสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทยอยู่ 2 ท่าน คือ อาจารย์ชำนาญ พิมลรัตน์ (ปัจจุบันอยู่ที่ BLCI) และอาจารย์ปรีชา วุฒิการณ์ (มหาวิทยาธุรกิจบัณฑิตย์)

ชำนาญ  พิมลรัตน์

พี่รินทร์(วงษ์เพชร ตาลสุวรรณ )ของเรา ได้เขียนความเป็นมาของชมรมฯ ที่น่าสนใจไว้ส่วนหนึ่งว่า “สมาชิกรุ่นใหม่ๆ อาจจะสงสัยว่า  ทำไมชมรมซึ่งตั้งมานานกว่า 37 ปี (ณ ปี 2550) จึงไม่ขอจดทะเบียนเป็นสมาคมดังเช่นสถาบันอื่นๆ  ที่ผมจำได้ในสมัยคุณประจวบ  เรือนใจดี  เป็นประธานชมรมฯ  เราได้นำเรื่องนี้เข้าประชุม แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย  โดยให้เหตุผลง่ายๆ  และฝังใจสมาชิกตลอดเวลาคือ  กลุ่มรังสิตอยากจะอนุรักษ์ความเป็นลูกทุ่งของกลุ่มเอาไว้เป็นเอกลักษณ์ของชมรมบริหารบุคคลรังสิต  ดังเช่นที่สมาชิกเห็นการประชุมยังคงสภาพเดิมไว้ทุกประการ เช่น ในการส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม  ควรมอบหมายผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจอย่างน้อยหนึ่งท่าน  เพื่อที่จะช่วยกันแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่  รวมทั้งการตัดสินใจแทนสถาบันด้วย  ซึ่งเป็นการรักษาสถานภาพเดิมของชมรมต่อไป  สิ่งที่อยากจะขอฝากผู้บริหารให้รับทราบตรงนี้ด้วย

ชมรมในยุคปัจจุบัน  ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อสมาชิกจำนวนมาก  ควรจะวางแนวทางให้สมาชิกทุกคนได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมของชมรม  เช่น  การตั้งกลุ่มย่อยทำการศึกษาเฉพาะเรื่องแล้วนำมาเสนอที่ประชุม  เป็นต้น

เชื่อว่าทุกท่านที่ก้าวมาใช้ชีวิตของนักบริหารงานบุคคล  คงต้องศึกษาเทคนิคและวิธีการในการทำงานอาชีพนี้โดยละเอียดถ่องแท้  เพื่อความกล้าและแม่นยำในการตัดสินใจ  ตลอดจนวิธีการทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง  ซึ่งผมอยากจะฝากแนวทางสั้น ๆ คือ  เป็นนักบริหารบุคคลอาชีพต้อง“มีใจ”หรือ “ต้องใจถึง” ต้องมี “กึ๋น” คือต้องมีของแท้และรู้จริง  อีกอย่างคือ ต้องมี  “ลีลา” พอสมควร

ในการสื่อข้อความเพื่อไม่ให้ตรงจนกระด้าง อันจะทำให้ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร

 

วงษ์เพชร  ตาลสุวรรณ

 

นอกจากนี้พี่ปรีชา วุฒิการณ์ ได้เล่าถึงประวัติชมรมฯ ไว้ในอีกมุมหนึ่ง  ที่ทำให้เราเห็นถึงสไตล์การทำงานของชมรมฯ และกรรมการชมรมฯ ความรักความผูกพันระหว่างกรรมการกับกรรมการและชมรมฯ กับสมาชิก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชมรมฯ ไว้ดังนี้


ปาริชาติแห่งทุ่งรังสิต


ดอกปาริชาตินั้นเป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ ซึ่งแม้ว่าใครได้กลิ่นแล้วจะทำให้สามารถรำลึกความหลังได้แจ่มชัด ย้อนไปสู่อดีตกาลแม้ในชาติก่อน ทำให้คิดได้ว่าถ้าใครสามารถเพาะพันธุ์ได้จนกระทั่งทำสวนปาริชาติได้ก็คงสามารถประกอบอาชีพแหล่งบำบัดรักษาโรคอัลไซเมอร์จนสามารถร่ำรวย โดยไม่ต้องทำเหมืองทองเหมืองเพชรที่ไหนเลย

เอ่ยถึง “ทุ่งรังสิต” พลันเหมือนได้กลิ่นดอกปาริชาติ ทำให้นึกย้อนถึงบรรยากาศเก่า ๆ ได้แจ่มชัด ตัวละครต่าง ๆ ของชาวทุ่งรังสิตที่รวมตัวกันเป็น “กลุ่มรังสิต” สมัยนั้นปรากฏขึ้นไม่ขาดสาย ประกอบด้วยเพลง “แตงเถาตาย” ขับขานโดย ไวยพจน์  เพชรสุพรรณ  เมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว (ประมาณ พ.ศ. 2520-2521) กล่าวถึงภูมิทัศน์แห่งรังสิตเอาไว้ตั้งแต่สะพานรังสิต (เดิมเรียกว่าสะพานแก้ว) ไปจนถึงบางปะอิน ว่ามีแผงขายพวงมาลัยและขายแตงโมเรียงรายกันบนถนนพหลโยธิน พูดถึงก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิต ซึ่งแต่เดิมขายกันอยู่แถบสะพานแก้ว ระยะหลังก็กระจัดกระจายกันไปจนขึ้นมาอยู่บนบกกันเสียแทบทั้งสิ้น แต่คำว่า “ก๋วยเตี๋ยวเรือ” ก็ถือว่าได้กำเนิดมากับทุ่งรังสิต

องค์ประกอบอีกอย่างของรังสิตสมัยนั้นก็คือโรงงานอุตสาหกรรม ประมาณปี 2510 ขาดเกินบ้างเล็กน้อย ก็ได้มีโรงงานหลายแห่งได้เริ่มต้นขึ้นในแถบรังสิต ทำให้วิถีชีวิตของชาวชนรังสิตช่วงนั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงจาก หน้านาทำนา หมดนาปลูกแตงโม กลายเป็นหนุ่ม-สาวโรงงาน วิถีชีวิตเรื่อย ๆ สบาย ๆ แบบเกษตรกร เปลี่ยนเป็นการเข้างานและเลิกงานตามเวลา ทำงานกะแต่งชุดฟอร์มของบริษัท สวมรองเท้านิรภัย(Safety Shoes) อันเป็นระเบียบวินัยที่ค่อนข้างยุ่งยากและไม่คุ้นเคย จนเกิดความขัดแย้งกันขึ้นระหว่างบุคคลกับองค์กรจนกระทั่งกลายเป็นกลุ่มคนกับองค์กร ตำนานแรงงานสัมพันธ์แห่งทุ่งรังสิตจึงได้เกิดขึ้น ก่อนกำเนิดของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 เล็กน้อย

นักบริหารงานบุคคล ขาโจ๋ขาจ้อย เริ่มทยอยกันเข้าไปสู่ทุ่งรังสิตเหมือนมือปืนพเนจรในภาพยนตร์ตะวันตก จรม้าเข้าไปสู่แดนร่อนแร่ทองคำ ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งนานัปการ พลบค่ำเซียนทั้งหลายก็ตั้งวงดื่มกินกันเป็นซุ้ม นัยว่าเป็นรูปแบบเบื้องต้นของการแรงงานสัมพันธ์ คนที่ดื่มไม่เป็นมาจากไหนก็มาเป็นเอาเสียที่รังสิต ที่ไม่ยอมดื่มเลยก็มักไม่ประสบความสำเร็จนัก อาจต้องเปลี่ยนอาชีพหรือไม่ก็ถอยไปเสียจากทุ่งรังสิต ที่ประคับประคองกันมาได้ก็คงจะเป็นพวกที่ดื่มกินและผสมวิชาการเข้าบ้าง จนมีสาระพูดคุยกัน โดยเฉพาะการร่วมกันคิดอ่านสร้างแนวทางการพึ่งพาอาศัยกันในด้านต่าง ๆ และหาแนวทางพัฒนารูปแบบการแรงงานสัมพันธ์ให้งอกงามและยั่งยืน

ที่ถกกันจริงจังหน่อยสมัยเริ่มต้นจริง ๆ เข้าใจว่าจะเป็นพี่วีระสิทธิ์ แห่งบริดจ์สโตน พี่บุญสร้างจากกู๊ดเยียร์ พี่เสถียรภาพจากไทยคูราโบ พี่บำรุง พี่ประสิทธิ์ กับอีกสองสามผู้อาวุโส ซึ่งได้นัดประชุมกันเป็นระยะ ๆ โดยมีคุณอุกฤษณ์  กาญจนเกตุ แห่งบริดจ์สโตนสมัยโน้น เป็นผู้ประสานงานด้านเอกสารกลุ่มได้หารือกันเรื่องปัญหาต่าง ๆ ในการบริหารงานบุคคล  จนกระทั่งมีการชักชวนนักบริหารบุคคลจากบริษัทอื่น ๆ มาร่วมด้วยและมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารกันบ้าง   พี่ชำนาญมาเดินกางแขนกางขาอยู่ที่กู๊ดเยียร์  พี่สุรินทร์ (วงษ์เพชร) มาดังอยู่ที่ไทยพิลาเม้นท์  คุณธีระวัฒน์ มาอยู่ที่เทยินโพลีเอสเตอร์และพี่ชาญชัย จากไทยเยอรมันเซรามิคและอีกมากมาย ทำให้วงสุราหนาแน่นขึ้นอีก ช่วงนั้นเริ่มมีกำหนดเวลาการประชุมกันค่อนข้างแน่นอนคือวันพฤหัสฯ ที่สองของเดือน โดยประชุมที่ร้านจิตรโภชนา หัวมุมพหลโยธินตัดวิภาวดีรังสิต ประมาณปี 2516-2517 ผมเองเริ่มเข้าสู่วงจรรังสิตขณะที่ทำงานที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย      มีธีระวัฒน์-เทยิน  และพี่สุรินทร์ (อุทัย) –กู๊ดเยียร์ ลากตัวเข้ามาร่วมวง ช่วงนั้นการวิเคราะห์ประเด็นศาลแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ค่อนข้างเข้มข้นตรงไปตรงมาจนพนักงานของร้านจิตรโภชนาพากันมาฟังรับทราบข้อมูลมากและบ่อยจนรวมตัวกันตั้งสหภาพแรงงานทำให้ทางร้านขอร้องให้กลุ่มรังสิตย้ายไปประชุมกันที่อื่น

ผมย้ายงานไปแล้วก็กลับคืนสู่กลุ่มรังสิตอีกครั้งสังกัดบริษัท กู๊ดเยียร์ เมื่อเราประชุมกันที่โรงแรมนิวอัมรินทร์ ถนนศรีอยุธยา ก็คือที่ตั้งของโรงแรม ขณะนี้จำได้ว่าช่วงนั้น พี่จวบ (ประจวบ เรือนใจดี) แห่งสหยูเนี่ยน เป็นประธานชมรมพร้อมทั้งทีมงานนำโดยคุณไกรแสง และต่อมาเกิดธรรมเนียมว่าหลังเลิกประชุมก็ไปดื่มกินกันต่อที่ร้าน “กิ๊กก๊อก”  ฝั่งตรงข้ามโรงแรม   เมนูเด็ดที่พี่รินทร์ (วงษ์เพชร) ชอบมากคือ “เอ็นกวางตุ๋น” ประธานชมรมที่สืบต่อกันมาได้แก่อาจารย์ตรีรัตน์ แล้วก็พี่ประสาทแห่งบริดจ์สโตน  ช่วงนั้นเราก็มีพญาเหยี่ยวมาร่วมวงเสวนากับพวกเราอีกท่านหนึ่งคือ เฮียรักษ์ เมฆะนันท์  ฝั่งของราชการเราก็มีพี่สม ศุภนคร แรงงานจังหวัดมือฉกาจ ผู้ได้สมญาว่า “ประธานสหภาพแรงงานจังหวัดแห่งประเทศไทย” สมัยอาจารย์ตรีรัตน์  พรหมศิริ เป็นประธาน  ชมรมเราได้ยกร่างข้อบังคับใหม่และเรียกตัวเองว่า ชมรมบริหารงานบุคคลรังสิต” เราเริ่มมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นบ้างเช่น การสำรวจค่าจ้างเริ่มต้นและการมอบหมายให้สมาชิกบางคนไปอ่านหนังสือแล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง จำได้ว่าคนหนึ่งที่ได้รับมอบหมายภารกิจนี้คือ “ช้าง” สิทธิชัย ศักดา สมัยนั้นอยู่ที่บริษัทเสริมสุข (เป๊ปซี่) กับสมชาย พิริยะสถิต ผมพบช้างครั้งสุดท้ายขณะที่เขาเป็นนายอำเภอวังน้ำเย็น ป่านนี้คงถึงปลัดจังหวัดแล้ว ขณะที่ตุ้ม-วรศักดิ์ แห่งค่ายโค๊ก ก็เป็นขาประจำมั่นคงจนบัดนี้

ผู้ซึ่งคอยอุปการะช่วยเหลือชมรมอีกท่านหนึ่งก็คือพี่คะเณย์ แห่งซูซุกิ ส่งสุรศักดิ์ เจ้าของวงปาหี่ที่เลื่องชื่อของรังสิต มาร่วมงานเป็นประจำ ทางฝาจีบก็มีพี่ปุ๋ย-ปิ่นเพชร ที่ถูกขนานนามว่า “หญิงเหล็ก” เมื่อครั้งเกิดปัญหานัดหยุดงานที่ฝาจีบ พี่ปุ๋ยจะมากับพี่มาลี บริษัท พรมไทย ขาประจำที่มาไกลหน่อยเห็นจะเป็นพี่นคร เธริโอ จากไทยเรยอน แถบนครชัยศรี

หลังจากนั้นผมได้รับฉันทานุมัติให้เป็นประธานชมรมอยู่สองสมัยก็ได้พยายามจรรโลงแนวคิดของรังสิตเอาไว้ให้เป็นรูปแบบหรือวิถีรังสิตที่ชัดเจน แต่ก็เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ความสัมพันธ์แนบแน่นของชาวรังสิตค่อย ๆ อ่อนแรงลง ตัวแทนขององค์กรที่มาร่วมก็มักจะมุ่งเน้นการได้ความรู้ต่าง ๆ เสมือนเป็นแหล่งอบรมมากกว่าแหล่งสร้างเครือข่าย ยังดีที่เรามีโกฮับเจ้าเก่าหรือทนายไพบูลย์ ผู้โอบอ้อมอารี แจกจ่ายความรู้สม่ำเสมอ เวลาไปสัมมนาจรก็แจกเงินไม่อั้นและนี่เป็นมูลเหตุหนึ่งที่ตุ้ม-วรศักดิ์  จะพยายามไม่ขาดการสัมมนาจร

อันที่จริงประธานทุกท่านของรังสิตไม่ว่าจะเป็นตุ๋ย-ศรีอาภา อุกฤษณ์  จารุภัทรและท่านอื่น ๆ ก็ล้วนเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขรังสิตแท้ทั้งสิ้นและต่างก็พยายามสร้างบรรยากาศเก่าให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ ก็อยู่ที่ท่านสมาชิกนั่นแหละครับ ที่จะหาและใช้ประโยชน์จากชมรมอย่างไร หากท่านต้องการเพียงความรู้ท่านก็จะได้ความรู้เฉกเช่นที่ท่านสามารถหาอ่านได้ในหนังสือดี ๆ นอกเหนือไปจากวิชาความรู้ หากท่านอยากมีเพื่อน ท่านก็ต้องปฏิบัติตัวเป็นเพื่อนคนอื่น หากท่านต้องการเครือข่าย (Network) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระยะยาวที่จะคอยช่วยเหลือกัน เพียงขอให้รู้ว่าเป็นรังสิตท่านต้องทำตัวท่านให้เป็นส่วนหนึ่งที่เข้มแข็งของเครือข่ายด้วย ระบบจึงจะทำงานและเอื้อประโยชน์แก่ท่านอย่างเต็มที่ ทั้งหมดสิ้นเริ่มต้นที่ตัวของท่านครับ

ปรีชา  วุฒิการณ์

 

ในปี พ.ศ. 2550 ชมรมบริหารบุคคลรังสิต  ได้กำหนดพันธกิจของชมรมฯ ไว้ดังนี้คือ

“ กรรมการเข้มแข็ง วิชาการเข้มข้น กิจกรรมจูงใจ รวมใจสมาชิก ”

 

ส่วนประธานชมรมฯ ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เท่าที่พอจะรวบรวมได้ มีดังนี้

ยุคต้น

คุณวีระสิทธิ์    เพชรบุล         (ไทยบริดจสโตน)

ยุคต่อมา

คุณประสาท   เลาหพันธ์        (ไทยบริดจสโตน)

คุณสุรินทร์ (วงษ์เพชร)   ตาลสุวรรณ      (ไทยฟีลาเมนต์)

คุณชำนาญ   พิมลรัตน์         (กู๊ดเยียร์)

ยุคกลาง

คุณปิ่นเพชร   หุตะสิงห์         (ฝาจีบ)

คุณประจวบ   เรือนใจดี         (สหยูเนี่ยน โรงงานซิป ที่ลาดพร้าว)

คุณตรีรัตน์   พรหมศิระ       (เปิดบริษัทจัดฝึกอบรม)

คุณปรีชา   วุฒิการณ์        (กู๊ดเยียร์)

คุณศรีอาภา   สุธรรมพิทักษ์    (ไทยบริดจสโตน)

คุณอุกฤษณ์    กาญจนเกตุ      (คิมเบอร์ลี่-คล๊าก)

ยุคปลายจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2554)

คุณจารุภัทร์    วัฒนโชติ         (โกลเด้นมายด์ เซอร์วิส )

คุณนฤมล(ภควรรณ)    วาดรักชิต        (โกลเด้นมายด์ เซอร์วิส)

คุณพรทิพา   ประดิษฐ์สุขถาวร (พานาโซนิคฯ นวนคร)

คุณวรศักดิ์   วงศ์ตาผา          (โอสถสภา)

คุณรักชนก    มีทรัพย์            (ฝาจีบ)

คุณพัฒนา บุณยาธิษฐาน (แมนเนอเจอเรียล ไซโคโลจี เทรนนิ่งแอนด์คอนซัลแตนท์ )

ประธานชมรมคนปัจจุบัน (2550 -2554)

คุณพัฒนา    บุณยาธิษฐาน   (แมนเนอเจอเรียล ไซโคโลจี เทรนนิ่งแอนด์คอนซัลแตนท์ )

 

ผู้รวบรวมข้อมูล

พี่ชำนาญ    พิมลรัตน์

พี่วงษ์เพชร  ตาลสุวรรณ

พี่ปรีชา      วุฒิการณ์

พี่อุกฤษณ์   กาญจนเกตุ

 

ผู้เรียบเรียงและตรวจทาน

พัฒนา บุณยาธิษฐาน

1 กรกฎาคม 2554